เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโยคะ
โยคะเกิดในประเทศอินเดียเมื่อประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว บรรดาโยคีหรืิอฤาษีฝึกท่าอาสนะเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายและจิตใจ โดยมีความเชื่อว่าการที่คนเราจะมีจิตใจแข็งแรงและสมบูรณ์ได้นั้น จะต้องมีร่างกายสมบูรณ์และแข็งแรงเป็นพื้นฐานเสียก่อน
โยคะมาจากศัพท์ของคำว่า “ยุชิร” หรือ “ยุช” ซึ่งแปลว่าเทียมแอก ผูกมัด ประกอบ หรือรวมกัน ตามความหมายของศัพท์ โยคะหมายถึงการเพ่งเล็งหรือการทำสมาธิเพื่อให้จิตสู่ความหลุดพ้น
การฝึกโยคะในปัจจุบันเป็นที่นิยมกันมาก เพราะโยคะมีประโยชน์มากมาย โยคะเป็นการบริหารกายที่สมบูรณ์แบบ นอกจากจะทำให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังมีผลต่อจิตใจ ช่วยบำบัดอาการเครียด ก่อให้เกิดความสงบแก่จิตใจด้วย เมื่อฝึกอย่างต่อเนื่องโยคะจะช่วยปรับสมดุลร่างกายจากภายในสู่ภายนอก ร่างกายจะแข็งแรงขึ้นและเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย ระบบคุู้มกันและเลือดลมหมุนเวียนดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยเรื่องรูปร่าง ทำให้รูปร่างกระชับสมส่วน สวยงาม อ่อนช้อย ผิวพรรณสวยงาม และโยคะทำให้ดูอ่อนกว่าวัยอีกด้วย
หลักสำคัญในการฝึกโยคะคือ การเรียนรู้ที่จะควบคุมจิตวิญญาณ ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงเป็นเพียงผลพลอยได้ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนแต่ละขั้นตอน การประสานการเคลื่อนไหวทางร่างกายและจิตใจให้เกิดความสมดุล ต้องตระหนักรู้ถึงลมปราณ โดยการสังเกตทุกขณะที่ท่านปฏิบัติโยคะแต่ละท่า โดยการปฏิบัติอย่างผ่อนคลาย ให้ความสำคัญกับจังหวะช้าๆในการที่จะยืดเหยียด เบิกบานกับการเสริมกล้ามเนื้อและประสาทภายใน ควรฝึกโยคะอย่างสมำ่เสมอและอดทน ตามสภาพความพร้อมของร่างกายเท่าที่ทำได้ ไม่ควรหักโหม และต้องฝึกไปพร้อมกับระบบการหายใจที่ถูกต้อง อยู่ในสถานที่ปลอดโปร่ง อากาศบริสุทธิ์ รวมทั้งการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ จะเป็นการทำให้การปฏิบัติมีคุณภาพมากขึ้น
โยคะ ศะจิตตะ วฤตติ นโรธะ (Yoga Chitta-Vritti Nirodhah )
การควบคุมธรรมชาติจิตเบื้องต่ำคือโยคะ
ท่านปตัญชลี (Patanjali) ได้ชื่อว่าเป็นมหาโยคีผู้มีประสบการณ์ในเรื่องสมาธิ ท่านได้เขียนโศลกซึ่งถือเป็นพระสูตรแห่งโยคะเรียกว่า โยคะสุตรา ( Yoga- Sutra) ถือว่าเป็นพระสูตรบทแรก
องค์แปดของโยคะ
โยคะคือระเบียบการบริกรรมแห่งโยคะไม่ใช่ศาสนา หากเป็นหนทางหรือวิถีทางอันหนึ่งที่ไม่ว่าถือศาสนาใด หรือไม่ถือศาสนาเลย อาจนำไปปฎิบัติได้ เพื่อความสูงส่งแห่งจิตใจตน และเพราะว่าหลักโยคะตั้งอยู่บนฐานของศีลธรรม
ท่านปตัญชลีได้กล่าวแต่ละขั้นตอนในการควบคุมจิตดังต่อไปนี้
ยมะ ( Yama) การละเว้นความชั่ว 5 ประการ ได้แก่
1.1 อหิงสา (Ahimsa) คือความไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเจ็บปวดด้วยประการใดๆ
1.2 สัตยะ ( Satya) คือการพูดความจริง
1.3 อัสเตยะ ( Asteya) คือการไม่ลักขโมย
1.4 พรหมจรรยะ (Brahmacaha) การประพฤติพรหมจรรย์
1.5 อปรครหะ (Aparigraha) คือความไม่โลภ
นิยมะ ( Niyama) คือการประพฤติความดี 5 ประการเหมือนกัน ได้แก่
2.1 เศาจะ (Shauca) คือความบริสุทธิ์สะอาดทั้งร่างกายและจิตใจ หมายถึง การบังคับใจไม่ให้นึกถึงสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ เช่น กามารมณ์ โลภารมร์ เป็นต้น
2.2 สันโดษ (Santosha) คือ ความยินดีในสิ่งที่ตนทีอยู่แล้ว
2.3 ตบะ คือการบำเพ็ญเพียรเพื่อข่มกิเลส ตั้งจิตอยู่ในอุเบกขา
2.4 สวาธยายะ ( Svadhyaya) คือความขวนขวายในการเรียนรู้
2.5 อีศวระประนิธาร (Ishvara-Pranidhana) คือการตั้งทางจิตสู่พระเป็นเจ้า หรือสิ่งที่โยคีถือว่าสูงสุด เช่นพระรัตนตรัยสำหรับโยคีพุทธเป็นต้น
อาสนะ (Asana) คือท่าออกกำลังต่างๆ ท่าดัดตนเพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์ และเพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เป็นท่า ที่เป็นการเพิ่มศักยภาพในการควบคุมกาย สถิร-สุขัม อาสนัม การนั่งในท่าใดเป็นเวลานานคือโยคะ
ปราณยามะ ( Pranayama) เป็นการควบคุมลมหายใจหรือบังคับลมปราณ
ปรัตยาหาระ ( Pratyahara) คือการถอดถอนใจออกจากความรู้สึกที่มีต่อวัตถุต่างๆ จึงเหมือนกับการเป็นสะพานระหว่างโลกียภูมิกับโลกุตรภูมิก็ว่าได้
ธารณา (Dharana) คือการเพ่งเล็งหรือการจดจ้องอยู่กับความรู้สึกที่คาดหวังที่จะกระทำการให้ลุล่วง ทำให้เกิดความสามารถในการบังคับจิตใจให้มั่นคงและเที่ยง
ธยานะ (Dhyana) คือการภาวนา การตระหนักรู้ต่อสภาพความเป็นจริง ธารณะสะท้อนให้เห็นแสงสว่างที่อยู่ในนั้นคือธยานะหรือญาน
สมาธิ ( Samadhi) สภาวะของความสงบ ความคงที่ของจิต ขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้ายและสูงสุดของโยคะ
ทั้งแปดขั้นตอนเป็นหฐโยคะ ( Hatha Yoga ) อันจะนำไปสู่ราชาโยคะ ( Raja-Yoga)